ผศ.ดร.พิกุล นุชนวลรัตน์

Asst. Prof. Dr. Phikun Nuchnuanrat

อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

FacebookLinkedInLinkLink

บทความวิชาการ

การจัดการโรคไม้ผล

 

      นักศึกษาต้องเข้าใจความหมายของการควบคุมโรค หรือ การป้องกันกำจัดโรคพืช (Disease control) ว่ามีความแตกต่างจาก การจัดการโรคพืช (Disease management) อย่างไร


การป้องกันกำจัดโรคพืช หรือการควบคุมโรคพืช (disease control)

การป้องกันกำจัดโรคพืช หรือการควบคุมโรคพืช มีวิธีการควบคุมหลายวิธี เช่น วิธีเขตกรรม ชีววิธี  กฎหมาย การใช้พันธุ์ต้านทาน วิธีกายภาพ และการใช้สารเคมี เป็นการปฏิบัติการเพื่อที่จะลดความรุนแรงของความเสียหายของพืชจากศัตรูพืช ให้อยู่ในระดับต่ำจนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกับพืชปลูก  

 

การจัดการโรคพืช (Disease management)

การจัดการโรคพืช เป็นการจัดการโรคพืชโดยมองภาพรวมทั้งระบบการปลูกพืช โดยไม่รอให้มีการเกิดความเสียหาย มีแนวทางโดยการแทรกวิธีการควบคุมโรคพืช (Disease control) ในทุกขั้นตอนของการปลูก และการดูแลรักษาพืช เกษตรกรควรมีความรู้ในพืชที่ปลูก ความรู้ในโรคพืช แมลงศัตรูพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกพืช และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการแพร่ระบาดของศัตรูพืช เน้นการป้องกัน (Protection) ควบคู่กับการจัดการดิน จัดการพืช จัดการน้ำ ฯลฯ ในระบบการปลูกพืช  จุดมุ่งหมายสำคัญคือรักษาผลผลิตให้มีปริมาณ และคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภค โดยมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

 

แนวคิดการป้องกันกำจัดโรคพืช หรือการควบคุมโรคพืช (disease control)

1.  การป้องกันกำจัดโรคพืช เป็นการปฏิบัติการเพื่อที่จะลดความรุนแรงของความเสียหายของพืชจากศัตรูพืช ให้อยู่ในระดับต่ำจนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกับพืชปลูก  แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถควบคุมศัตรูพืชให้หมดไปทุกชนิดในแปลงปลูกพืช สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงก็คือ เมื่อทำการควบคุมแล้วคุ้มกับผลผลิตที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต และใช้แรงงานในการผลิตมากขึ้น

2.  การป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น วิธีเขตกรรม ชีววิธี  กฎหมาย การใช้พันธุ์ต้านทาน วิธีกายภาพ และการใช้สารเคมี แต่ละวิธีการควบคุมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นการนำเอาวิธีควบคุมหลาย ๆ วิธีมาใช้ร่วมกัน ก็เพื่อจะให้เกิดผลดีที่สุด แต่ถ้าใช้หลายวิธีมากก็สิ้นเปลืองแรงงาน และต้นทุนการผลิต

3.  การป้องกันกำจัดโรคพืชที่ดี ไม่ควรจะทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ชีววิธี การใช้พันธุ์ต้านทานฯลฯ เป็นวิธีการที่เห็นผลช้ากว่าวิธีการใช้สารเคมีแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

4. การสร้างพืชพันธุ์ต้านทานมักเป็นงานที่ทำโดยหน่วยงานของรัฐ และต้องทำเป็นประจำ เพราะเมื่อมนุษย์พัฒนาพันธุ์พืชต้านทานโรคขึ้นมา เชื้อสาเหตุก็พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นตาม ปัญหาใหญ่ คือ ความต้านทานที่สร้างขึ้นมักเป็นความต้านทานแบบเฉพาะเจาะจงต่อโรคใดโรคหนึ่งเท่านั้น (vertical resistance) และพันธุ์ต้านทานมักไม่ใช่พันธุ์ที่มีคุณลักษณะตามความต้องการของผู้บริโภค

5.  ในการควบคุมโรคพืชมักจะไม่ใช้วิธีการรักษา (cure) ทั้งนี้เพราะการรักษาส่วนของพืชที่เป็นโรคซึ่งเนื้อเยื่อพืชถูกทำลายไปแล้วเพื่อให้กลับดีดังเดิมนั้น มักจะไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งการรักษานั้นต้องสิ้นเปลืองสารเคมีในการกำจัดมากกว่าการใช้ในการป้องกัน (Protection) และสารเคมีมักจะมีราคาแพง  อย่างไรก็ตามการรักษาพืชที่เป็นโรคยังเป็นที่นิยมในไม้ผล และไม้ยืนต้นบ้าง ทั้งนี้เพราะว่ากว่าที่เกษตรกรจะปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นจนออกดอกให้ผลนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง เกษตรกรยังยอมที่จะเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเพิ่มขึ้น เพื่อหวังว่าจะสามารถเก็บผลผลิตคืนมาได้ ซึ่งบางโรคก็สามารถรักษาได้ บางโรคก็ไม่อาจรักษาได้

 

การใช้สารเคมีควบคุมโรคพืช

    เกษตรกรควรมีความรู้เกี่ยวกับสารเคมี และใช้ตามอัตราแนะนำ สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคพืชแบ่งกว้างๆเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้ในการป้องกัน และ กลุ่มที่ใช้ในการรักษา

1.   กลุ่มที่ใช้ป้องกัน (Protective fungicide) มักเป็นสารออกฤทธิ์กว้าง ควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด แต่สารจะออกฤทธิ์โดยการสัมผัส (contact) สารไม่สามารถดูดซึม (non-systemic fungicide) และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ในพืช  ฉีดตรงไหน ควบคุมโรคตรงนั้น และมักจะต้องฉีดพ่นซ้ำบ่อยๆ ทุก 5-7 วัน เนื่องจากถูกชะล้างออกจากพืชได้ เช่น copper oxychloride, mancozeb หรือ กำมะถันผง

2.   กลุ่มสารเคมีชนิดดูดซึม (Systemic fungicide) สารกลุ่มนี้สามารถดูดซึมเข้าสู่พืช และเคลื่อนย้ายได้ในพืช มักมีฤทธิ์ตกค้างนานประมาณ 21 วัน ทำให้ไม่ต้องฉีดพ่นบ่อยๆ แต่มีข้อเสียที่มักออกฤทธิ์แคบ เฉพาะเจาะจง ต่อโรค และต้องสลับกลุ่มสารเคมีในการใช้บ่อยๆ เนื่องจากเสี่ยงต่อการดื้อยา  ตัวอย่างสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดดูดซึมที่ใช้ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากราชั้นสูง ได้แก่ carbendazim, prochoraz, azoxytrobin, benomyl, difeconazole หรือ propiconazole  ส่วนสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดดูดซึมที่ใช้ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากราชั้นต่ำ ได้แก่ metalaxyl, fosethyl aluminum หรือ phosphonic acid

          การใช้สารเคมีควบคุมโรคพืชเป็นวิธีที่ได้ผลดี เห็นผลรวดเร็ว สะดวกกับเกษตรกรที่สุด แต่ก็มีราคาแพง เพิ่มต้นทุนการผลิต มีปัญหาดื้อยา และพิษตกค้างของสารเคมี นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีปัญหาข้อกีดกันทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันมีข้อตกลงการค้า ทำให้มีสินค้าปลอดภาษี ทำให้หลายๆประเทศใช้มาตรการด้านสุขอนามัยในการกีดกันการค้า  การเว้นระยะฉีดพ่นสารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวจึงเป็นแนวทางสำคัญในการผลิตผักปลอดภัย

 

การวางแผนการจัดการโรคในสวนผลไม้

    การวางแผนการจัดโรคในสวนผลไม้ให้ได้ผลดีต้องอาศัยความรู้พื้นฐานจากทฤษฏีของสามเหลี่ยมโรคพืช (disease triangle) ประกอบด้วย  1. พืชอาศัย   2. เชื้อสาเหตุโรค 3. สภาพแวดล้อม   ในการป้องกันกำจัดโรคพืชอาจทำที่องค์ประกอบตัวใดตัวหนึ่ง เพียงเพื่อควบคุมโรคไม่ให้เกิดการระบาดของโรค โดยเกษตรกรควรมีความรู้ด้านต่างๆ ดังนี้

1.     เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านโรคพืชที่สำคัญของพืชชนิดนั้นๆ

     1.1 โรคพืช 80 เปอร์เซ็นต์เกิดจากเชื้อรา โดยทั่วไปเกษตรกรมักใช้วิธีเขตกรรม และสารเคมีในการป้องกันกำจัดโรค บางพืชมีโอกาสเกิดจากแบคทีเรียซึ่งต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่มีราคาแพงในการรักษา โรคพืชบางชนิดอาจเกิดจากไส้เดือนฝอย ไวรัส และมอลลิคิวต์ ซึ่งหลายๆโรคมีอาการคล้ายคลึงอาการขาดธาตุอาหาร

     1.2 สาเหตุโรคพืช อาจแบ่งกว้างๆ ตามนิเวศวิทยา และการแพร่ระบาด เช่น air borne หรือ soil borne ซึ่งอาจวินิจฉัยได้จากบริเวณที่ปรากฏอาการจากการทำลายของเชื้อสาเหตุโรค  การควบคุมโรคพืชที่เป็น air borne disease มักจะทำบริเวณเหนือผิวดิน  ส่วน soil borne disease มักจะเน้นที่การจัดการดิน หรือ สภาพแวดล้อมในดิน 

     1.3 หากการแพร่ระบาดโรคพืชเกิดจากแมลงศัตรูพืชเป็นแมลงหาพะนำโรค ควรสำรวจดูว่าเป็นแมลงปากกัด หรือปากดูด แมลงเคลื่อนที่ช้า หรือ เคลื่อนที่เร็ว แล้วหากเลือกใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดควควรใช้สารกำจัดแมลงชนิดสัมผัส (Contact insecticide) หรือสารกำจัดแมลงชนิดดูดซึม (systemic insecticide) หรือควรฉีดพ่นระยะใดในวงจรชีวิตแมลง (แมลงบางชนิดเป็นพาหะนำโรคสู่พืช การกำจัดแมลงอาจเป็นวิธีควบคุมโรคพืชบางชนิดได้)

     1.4 วัชพืช กำจัดง่ายก่อนวัชพืชงอก ดังนั้น ถ้าให้ง่ายควรเตรียมดินให้ดี หากจะใช้สารเคมี ควรพิจารณาคุณสมบัติของสารเคมีกำจัดวัชพืช เช่น ออกฤทธิ์กว้าง  ออกฤทธิ์แคบ กำจัดวัชพืชใบกว้าง หรือใบแคบ หรือไม่เลือกทำลาย  หรือเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดสัมผัส หรือ ดูดซึม (วัชพืชบางชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของโรคแมลง การกำจัดวัชพืช จึงเป็นการควบคุมโรคพืชด้วย)

2.   เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจในพืชที่ปลูก  โดยควรทราบอุปนิสัยของพืชปลูก  ความต้องการธาตุอาหาร  น้ำ และแสงแดด เพื่อการเจริญเติบโต  โดยควรศึกษาด้วยว่าพืชที่ตนปลูกนั้นมีโอกาสพบความเสียหายจากโรคพืชอะไร และมีอาการความเสียหายจากโรคพืชอย่างไร

3.  เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในแปลงปลูก ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความเป็นกรดเป็นด่าง  ปริมาณน้ำฝน  สภาพภูมิประเทศ  เป็นสิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนจะวางแผนควบคุมโรคพืช เนื่องจากการปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับความต้องการของพืช จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคแมลง

4.  การควบคุมโรคพืชให้ได้ผลดีที่สุดมักจะต้องใช้วิธีการหลาย ๆ วิธีร่วมกัน (integrated control) แต่ละวิธีการจะมีหลักการที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันได้   แต่การจะใช้วิธีใดร่วมกันนั้น เกษตรกรควรพิจารณาถึงความเสียหายว่าทันต่อการควบคุมความเสียหายหรือไม่ ต้นทุนสูงไปหรือไม่

5.  ก่อนการควบคุมโรคพืช เกษตรกรต้องทำการวินิจฉัยโรคพืช เพื่อให้ทราบสาเหตุของโรคพืช เนื่องจากมีแนวทางในการควบคุมโรคแตกต่างการ  เบื้องต้นสามารถทำได้โดยวินิจฉัยโรคพืชจากอาการ แล้วเปรียบเทียบจากแหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือ  หากไม่แน่ใจ ควรส่งหน่วยงานรัฐเพื่อช่วยวินิจฉัย เช่น ศูนย์วิจัยพืชสวนพลิ้ว

6. การเลือกใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เกษตรกรควรทราบว่าเชื้อราสาเหตุโรคพืชนั้นเป็นเชื้อราอะไร เป็นราชั้นต่ำหรือราชั้นสูง เนื่องจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดดูดซึมนั้น จะมีฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อสาเหตุ  การใช้สารเคมีชนิดดูดซึ่มแม้จะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืชได้ดี ออกฤทธิ์นานกว่าสารชนิดสัมผัส แต่ก็พบมีปัญหาราคาแพง พิษตกค้างของสารเคมีในผลผลิต และปัญหาการต้านทานสารเคมีของเชื้อสาเหตุโรคพืชเมื่อใช้สารเคมีชนิดเดิมซ้ำบ่อยๆ ทำให้ต่อมาใช้สารชนิดเดิมนั้นไม่ได้ผล ดังนั้นเกษตรกรจึงควรสลับกลุ่มสารเคมีในการควบคุมโรค เพื่อลดปัญหาความต้านทานสารเคมีดังกล่าว 

7.   เกษตรกรควรทราบความเสียของพืชจากสาเหตุอื่น ๆ ด้วย เช่น อาการขาดธาตุอาหาร  พิษของสารเคมี หรือความเสียหายจากแมลง เพิ่อให้สามารถแนวทางในการลดความเสียหายจากพืชได้ถูกต้อง

8.   เกษตรกรควรทราบความต้องการของผู้บริโภค ควรมีการวางแผนก่อนการผลิตว่า ผลิตอะไร เพื่อขายให้ใคร ขายที่ไหน ขายอย่างไร เพื่อให้สามารถผลิตผลผลิตที่คุณภาพ ตรงตามความต้องการผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมักจะมีรสนิยมไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่รสนิยมจะสัมพันธ์กับรายได้ของผู้บริโภคด้วย เช่น คนมีรายได้สูงอาจมีความต้องการสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน เช่น เกษตรอินทรีย์ / มาตรฐาน GAP (ได้รับรองสัญลักษณ์ Q บนสินค้า) / สินค้าปลอดภัย-ปลอดสารพิษ ส่วนผู้มีรายได้ต่ำอาจไม่ได้สนใจคุณภาพของผลผลิตมาก อาจมีความต้องการสินค้าที่มีราคาถูก เพื่อการยังชีพ หรือหานำมาผลิตอาหารก็เพียงให้มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด

 

สรุป

       จากเนื้อหาบรรยาย โรคไม้ผลต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราที่มีพืชอาศัยร่วมกัน เช่น โรคใบจุดสนิม หรือใบจุดสาหร่ายบนใบ  โรคแอนแทรคโนส โรคราดำ โรคราแป้ง หรือโรคบนใบจากหลายๆ สาเหตุ หากเรามีความรู้ในพืชที่เราปลูกว่ามีโรคอะไรเป็นโรคที่สำคัญ โรคอะไรถ้าปลูกจะพบระบาดเป็นประจำแต่อาจไม่สำคัญ  โรคอะไรหากเกิดการระบาดจะทำให้ผลผลิตมีความเสียหาย หรือต้นตาย ดังนั้น เกษตรกรควรทราบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคด้วย เพื่อการคาดการณ์หรือพยากรณ์ได้ว่า ช่วงใดมีโอกาสในการเกิดโรค  สามารถวินิจฉัยโรคได้ทันท่วงที เพื่อให้ทราบว่าความเสียหายของโรคพืชเกิดจากเชื้ออะไร เป็นโรคชื่ออะไร เชื้อโรคระบาดเข้าสู่สวนของเราได้อย่างไร มีแมลงชนิดใดเป็นพาหะนำโรค หรือ แพร่กระจายโดยลม หรือฝน แล้วตัดสินใจเลือกวิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสม และทันการณ์ โดยคำนึงระดับความรุนแรงของโรค จำนวนแรงงานในการจัดการ  ต้นทุนการผลิต และเป้าหมายการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณ และคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค